วัดสันสลิด
วัดสันสลิด เป็นวัดประจำหมู่บ้านของ บ้านสันสลิด หมู่ 3 จากเอกสารประชาสัมพันธ์ของวัดสันสลิด ได้เขียนประวัติความเป็นมาของบ้านสันสลิด เดิมเรียกว่า "บ้านบวกครก" ชาวบ้านที่อาศัยส่วนใหญ่ได้อพยพมาจากที่ต่าง ๆ ทั้งต่างอำเภอ คือ อำเภอแม่จัน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย และต่างจังหวัด เช่น จังหวัดลำปาง จังหวัดพะเยา จังหวัดลำพูน ต่อมาในสมัยของกำนันศรัทธา สกุลเวช ได้มีการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน เป็นบ้านสันสลิด ตามสภาพพื้นที่ ที่มีดอกสลิด หรือภาคกลางเรียกว่า " ดอกขจร " ขึ้นชุกชุมบริเวณเนินดิน ชาวล้านนา เรียกว่า " สัน " จึงเรียกว่า บ้านสันสลิด
พื้นที่นี้เป็นเส้นทางตัดผ่านเป็นร่องยาวไปจนถึง แถววัดโบราณเวียงเดิม ชาวบ้านเรียกว่า "ร่องช้าง" ลักษณะพื้นที่นี่จึงมีลักษณะเป็นที่ราบต่ำกว่าที่อื่น และชาวบ้านได้สร้างวัดประจำชุมชน เพื่อเป็นศูนย์รวมของจิตใจชาวบ้านและทำกิจกรรมทางพุทธศาสนา วัดสันสลิดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2514
เอกสารประชาสัมพันธ์ ข้อสันนิฐานของพระพุทธรูปหินทราย เป็นงานศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะพะเยา นอกจากในพื้นที่ในพื้นที่พะเยาแล้วยังพบหลักฐานในหมู่บ้านเวียงลอเทิง ที่มีการสร้างศาสนสถานและมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นจำนวนมาก พระพุทธรูปหินทรายวัดสันสลิด ซึ่งขุดพบบริเวณวัด ทุ่งนา สันนิฐานว่าเป็นผลมาจากพญาคำฟู รัชกาลที่ 4 ราชวงค์มังรายขยายอำนาจเข้ายึดครองเมือง ได้ร่วมกับเมืองปัว-น่าน เข้าร่วมปล้นเมืองพะเยา เมืองพะเยาจึงผนวกเข้าเป็นล้านนา ในครั้งนั้นพญาคำฟู ต้อนผู้คนจากเมืองพะเยาที่มีฝีมือทางช่างสกุลพะเยา ให้อยู่ในพื้นที่พันนาก่อ (ทุ่งก่อ) ต่อมาทำให้เกิดพุทธปฏิมาหินทรายศิลปะพะเยาเกิดขึ้นเฉพาะบริเวณนี้
ลักษณะพระพุทธรูปหินทรายวัดสันสลิด ที่มีพระพักตร์คล้ายพระแก้วมรกต พระพุทธรูปหินทรายที่ค้นพบอยู่ในสภาพชำรุด ไม่พบเศียร บางองค์เศียรหัก โดยองค์ที่เศียรหักได้รับการบูรณะซ่อมแซม โดยเป็นผลงานของอาจารย์ถวัล ดัชนีย์ ได้สร้าง
อนิสงค์สืบศาสนาไว้เมื่อ พ.ศ. 2534
จากการสัมภาษณ์ พระครูมานิตย์ ถาสุโก อายุ56ปี รองเจ้าอาวาสวัดสันสลิดเล่าถึงประวัติการค้นพบว่า สมัยก่อนในฤดูทำนา เจ้าของที่นาชาวบ้านได้พบก้อนหินที่เป็นหินทรายขนาดใหญ่ จึงนำมีดพร้ามาลับคมกับก้อนหินก้อนนี้ ต่อมามีความต้องการขุดหินทรายก้อนนี้ออกมาเพื่อนำไปเป็นที่ลับมีด ปรากฏว่า เมื่อขุดดินลงไปพบว่า หินทรายก้อนนั้นเป็นฐานพระพุทธรูป จึงพาชาวบ้านคนอื่นมาช่วยกันขุดเพื่อนำฐานพระพุทธรูปนั้นออกมา ทำให้ลักษณะฐานพระพุทธรูปหินทรายที่ประดิษฐานในวัดสันสลิด มีรอยของการลับมีดที่เห็นได้อย่างชัดเจน
เมื่อขุดพบฐานพระโบราณ ชาวบ้านที่ทราบข่าวและอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงจึงมาช่วยกันขุดหาเพื่อค้นหาชิ้นส่วนอื่นๆ ของพระพุทธรูป และพบส่วนที่เป็นเศียรของพระในบริเวณเดียวกันกับที่พบฐานพระพุทธรูป มีสภาพที่ชำรุดแตกหัก และไม่พบส่วนที่เป็นหัวใจของพระพุทธรูป (หัวใจพระพุทธรูป หรือหัวใจพระเจ้า เป็นพิธีกรรมของชาวล้านนาที่จะบรรจุของมีค่าและของศักสิทธิ์ต่าง ๆ ที่บรรจุไว้บริเวณพระอุระ
ด้านซ้ายของพระพุทธรูป เช่น เงิน ทอง พระบรมสารีริกธาตุ เป็นต้น) คาดว่า มีโจรขโมยหัวใจของพระพุทธรูปไปแล้ว และได้รับการบูรณะซ่อมแซม ในปี 2534 ด้วยการต่อเศียรและฐานให้สมบูรณ์ โดยได้รับความช่วยเหลือจาก อาจารย์ถวัลย์ ดัชนีย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม)
พระครูมานิตย์ ได้เล่าเหตุการณ์ที่ทำให้พระพุทธหินทราย มีชื่อเรียกว่า "พระพุทธรูปไม่พลัดถิ่น" สมัยที่เป็นกิ่งอำเภอเวียงชัย เหตุการณ์หลังค้นพบพระพุทธรูป มีผู้ต้องการจะนำพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ที่บริเวณศาลาริมหนองหลวง เพื่อสร้างให้เป็นสถานที่
พักผ่อนและสถานที่ท่องเที่ยว จึงนำชาวบ้านมาช่วยกันยกพระพุทธรูปทั้งหมดขึ้นรถสิบล้อ แต่เกิดอุปสรรค ปัญหาต่างๆ เช่น รถสตาร์ทไม่ติด ชาวบ้านจึงต้องช่วยกันชักลากรถ และนำไปประดิษฐานที่หนองหลวงอย่างทุลักทุเล หลังจากพระพุทธรูปทั้งหมดมาประดิษฐานที่บ้านหนองหลวง ประมาณ 3 ปี เกิดเหตุการณ์ชาวบ้านหนองหลวงมีการเสียชีวิตติดต่อกันหลายคน หมอพิธีกรรม(ร่างทรง)ในหมู่บ้าน ทำนายว่า ต้นเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตของคนในหมู่บ้านติดต่อกันนั้น เป็นเพราะการนำพระพุทธรูปโบราณมาไว้ในหมู่บ้าน ซึ่งพระพุทธรูปไม่มีความต้องการที่จะประดิษฐานในบริเวณนี้ จึงทำให้เกิดสิ่งไม่ดีขึ้น ดังนั้นชาวบ้านหนองหลวง จึงอัญเชิญพระรูปหินทรายโบราณกลับมาประดิษฐาน ยังวัดสันสลัดจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกของพระพุทธรูปเหล่านั้น ว่า "พระพุทธรูปไม่พลัดถิ่น"
พื้นที่บริเวณสนามหญ้าติดกับเมรุในพื้นที่วัดปัจจุบัน ในอดีตเป็นหนองน้ำขนาดเล็กมีต้นไม้ใหญ่ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากชาวบ้านหลายคน ได้เคยเห็นดวงแก้ว ลองลอยอยู่ในช่วงเวลากลางคืน นอกจากนี้ภายในวัดได้เก็บรวบรวมวัตถุโบราณต่าง ๆ ที่ชาวบ้านนำมาถวายแต่มีจำนวนไม่มาก จึงไม่ได้นำมาจัดแสดง แต่เก็บรักษาไว้ในตู้กระจก รวบรวมไว้กับพระพุทธรูป ภายในกุฎิขนาดเล็ก
วัดสันสลิตเป็นศูนย์รวมของชุมชน นอกจากมีประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องทางศาสนาแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เช่น ในเดือนมิถุนาย พ.ศ. 2561 สำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน(กศน.) ได้ใช้พื้นที่ของวัดสันสลิดในการจัดกิจกรรม "คาราวาน กศน. อำเภอเวียงชัย" ดำเนินกิจกรรมนำเสนอภูมิปัญญษท้องถิ่น ของบ้านสันสลิด และเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ เป็นการนำเสนอภูมิปัญญา เช่น การจักสาน การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกล้วย การทำบายศรี ขนมทองม้วนการจัดการขยะ เป็นต้น ทำให้เห็นถึงความสัมพันฑ์ของวัดที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างแท้จริง