วัดโบราณเวียงเดิม
วัดโบราณเวียงเดิม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดพระโบราณ ตั้งอยู่ที่บ้านเวียงเดิม หมู่ที่ 2 ตําบลเวียงเหนือ อําเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ห่างจากตัวเมืองเชียงราย ออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 15 กิโลเมตร ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2515 มีพื้นที่จํานวน 14 ไร่ 1 งาน 83 ตารางวา หลักฐานที่ดินโฉนดเลขที่ 17206 ได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2529 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 เดิมวัดนี้เคยเป็นวัดร้างมาก่อน จนกระทั่งเมื่อประมาณ พ.ศ.2497 ชาวบ้านจากจังหวัดลําปางได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานทําไร่ทํานา รวมกันเป็นชุมชนและเรียกชื่อบ้านของตนว่า บ้านสันผักฮี้ ต่อมามีชาวบ้านอพยพเข้ามามากขึ้น จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น บ้านเวียงเดิม เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 นายวงศ์ มโวรรณ ผู้ใหญ่บ้าน ได้นําชาวบ้านพัฒนาถนนในหมู่บ้าน ในขณะที่กําลังขนอิฐจากวัดร้างไปถมถนนอยู่นั้น พ่อฟอง สุดา ได้บังเอิญเห็นส่วนองค์ของพระพุทธรูป ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันขุดดินจนเห็นองค์พระที่มีความสวยงามสมบูรณ์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐ ถือปูน ศิลปะอินเดียแบบปาลวะ ขนาดหน้าตัก 73 นิ้ว และสูง 82 นิ้ว ข่าวที่ชาวบ้านเวียงเดิมขุดเจอพระพุทธรูปโบราณได้แพร่สะพัดออกไป ทําให้ประชาชนจากทุกทั่วสารทิศมานมัสการของหลวงพ่อโบราณอยู่เสมอ ชาวบ้านจึงได้พร้อมใจกันยุบย้ายราษฎร์บูรณะ (ร่องหมาใน) ซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศใต้ประมาณ 700 เมตรมารวมกับพระพุทธรูปโบราณที่ขุดพบ โดยนิมนต์ท่าน พระทองจันทร์ ขนุติสาโร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์บูรณะ มาเป็นเจ้าอาวาส แล้วตั้งชื่อวัดว่า “วัดพระโบราณ” แต่ต่อมาทางกรมการศาสนาได้อนุญาตให้ยกวัดร้างเป็นวัดที่มีพระสงฆ์และตั้งชื่อว่า “วัดโบราณเวียงเดิม” จนปัจจุบัน และได้สร้างวิหารครอบองค์พระ รวมทั้งสร้างกุฏิสําหรับพระสงฆ์ วัดโบราณเวียงเดิมจึงได้รับการพัฒนาต่อมาเป็นลําดับ (อุษณีย์ ธงไชย และคณะ, หน้า 46)
พิกัด 19°5548"N 99°5700"E และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่
21 ตุลาคม 2523 เล่ม 97 ตอนที่ 163 เลข ทะเบียน 0003719 ประวัติโบราณสถานและแหล่งโบราณคดี เศียรพระพุทธรูป เครื่องปั้นดินเผา และพระพุทธรูปปูนปั้น
วัดโบราณเวียงเดิม เป็นวัดประจำชุมชน ของหมู่บ้านเวียงเดิม ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีความสำคัญกับชุมชนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปโบราณที่ขุดค้นพบ โดยคนในชุมชนจากการขุดดินถมถนนเพื่อพัฒนา ภายในหมู่บ้าน
จากการสัมภาษณ์ นายหลาน สมณะ ปัจจุบันอายุ 78 ปี อดีตดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนร่วมในการขุดค้นพบพระพุทธรูปโบราณ
แต่เดิมพ่อหลานเป็นชาวบ้านจากอำเภแม่ทะ จังหวัดลำปาง ด้วยมีความต้องการที่จะก้าวหน้า จังหวัดลำปางฝนแล้งรวมถึงเห็นว่า เชียงรายมีความอุดมสมบูรณ์มาอยู่บ้านเวียงเหนือ เมื่ออายุ 22 ปี โดยมีการอพยพย้ายถิ่นมาอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น จังหวัดที่อยู่ในภาคเหนือ เช่น ลำปาง และเชียงใหม่ และชาวอีสานจากหลายจังหวัด ทั้งหนองคาย กาฬสินธ์ อุบลราชธานี เป็นต้น ในสมัยนั้น บริเวณที่อยู่อาศัยเป็นป่าทึบ พบทั้งรอยเท้าเสือ รอยเท้าช้าง มีสัตว์ป่ามากมาย ทั้งหมูป่า กวาง มีปลาเป็นจำนวนมาก สภาพพื้นที่เป็นที่ราบ เป็นหญ้าคา หญ้าแขม อาศัยน้ำแม่ลาว แต่ยังไม่มีร่องลำเหมือง เป็นที่ดินไม่มีใบครอบครองสิทธ์ เพิ่งได้รับใบครอบครองที่ดินเมื่อประมาณ ปี พ.ศ 2520 ผู้ใหญ่ก็รับรอง และต่อมาน้ำแม่ลาวแห้ง รัฐบาลได้สร้างเขื่อนขึ้นมา จึงได้ชื่อว่าบ้านดินดำน้ำชุ่ม ซึ่งสอดคล้องกับการสัมภาษณ์ แม่ล้วน สมณะ ปัจจุบันอายุ 73 ปี ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณตรงข้ามของวัดโบราณเวียงเดิม ซึ่งย้ายมาจากบ้านทุ่งคดอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 2506 ซึ่งพื้นที่บริเวณบ้านเวียงเดิมเป็นป่ารกร้าง มีเพียงทางเดินเล็ก ๆ การจับจองที่ดินที่ทำมาหากิน ด้วยวิธีการนำไม้มาปักหมายเป็นเจ้าของที่ดินนั้น ตามคำบอกพูดที่ว่า "ป่าบง ต้นยุ้ง ข้าวซุม กอหงาย บ่าถ้ามีควาย ปลูกเอาก็ได้"
ประวัติศาสตร์การดําเนินงานในพื้นที่กรมศิลปากร หน่วยที่ 4 อําเภอเชียงแสนมาตรวจสอบพระพุทธรูป ต่อมากรมศิลปกร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2523 ประวัติศาสตร์การรับรู้ของคนในพื้นที่จากประวัติการดําเนินงานของกรมศิลปกรในพื้นที่วัดโบราณเวียงเดิมนั้น เมื่อ พ.ศ. 2515 นายวงค์ มโนวรรณ์ ผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นได้ร่วมกับชาวบ้านนำดินมาถมพื้นที่ที่เป็นหลุมเป็นบ่อ เพื่อให้พื้นที่เสมอกัน ชาวบ้านจึงได้พากันไปขุดดินที่จอมปลวกในป่าละเมาะที่มีแต่ต้นไผ่ และก้อนอิฐเก่าในบริเวณนั้น ซึ่งชาวบ้านคิดว่าเคยเป็นวัดร้างมาก่อน ขณะที่ขุดจอมปลวกอยู่นั้น นายฟอง สุดา ได้ขุดพบเศียรพระพุทธรูป พบว่าเป็นพระพุทธรูปองค์ที่สมบูรณ์ พระพักตร์คล้าย พระสิงห์ปางมารวิชัย ความกว้างหน้าตัก 73 นิ้ว สูง 82 นิ้ว สร้าง ด้วยอิฐถือปูน คณะกรรมการวัดจึงได้แจ้งให้กรมศิลปากร หน่วยที่ 4 อําเภอเชียงแสน มาตรวจสอบและพบว่า พระพุทธรูปองค์นี้ สร้างพุทธศตวรรษที่ 19 อายุไม่ต่ํากว่า 600 ปี
หลักฐานทางโบราณคดี หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์ อักษรนั้นยังไม่ปรากฏ แต่มีโบราณสถานที่ปรากฏอยู่หลายการที่วัดโบราณเวียงเดิม ได้แก่ สถาปัตยกรรมซุ้มประตูโขงเทพพนม เครื่องปั้นดินเผา พระพุทธรูปปูนปั้นโบราณ และศิลปะปูนปั้นมีรายละเอียดดังนี้
1.)สถาปัตยกรรมซากซุ้มประตูโขง เข้าสู่วิหารหลวงพ่อโบราณเวียงเดิม จากการลงภาคสนามนั้น พบว่าสภาพในปัจจุบัน นั้นเป็นซากปรักหักพัง ที่ไม่เหลือร่องรอยของสภาพเดิม อยู่ห่างจากพระพุทธรูปโบราณไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 50 เมตร แต่ทางวัดได้จําลองภาพไว้ด้วยการนําไปสร้างเป็นซุ้มประตูเข้า โบราณเวียงเดิมในปัจจุบัน จึงไม่สามารถวิเคราะห์ทาง สถาปัตยกรรมได้ แต่สันนิษฐานว่า เป็นการก่อสร้างในช่วงเดียวกัน กับพระพุทธรูปโบราณเวียงเดิม
2.) โบราณวัตถุเครื่องปั้นดินเผา แสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ ของวัด ได้แก่ ชิ้นส่วนของ พระพุทธรูปโบราณอื่น ๆ และเครื่องปั้นดินเผาถึง 238 ชิ้น นักโบราณคดีได้สันนิษฐานว่า มีการผลิตในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21-22 และมีลักษณะของเตาเผาเมืองพาน เชียงราย เตาเผาเวียงบัว พะเยา เตาเผาสุโขทัย เตาเผา สันกําแพง เชียงใหม่ เตาเผาหริภุญ ไชยรุ่นหลัง เตาเผาจีน (อุษณีย์ ธงไชย และคณะ, หน้า 47)
3.) พระพุทธรูปปูนปั้นโบราณ พระพักตร์คล้ายพระสิงห์ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 72 นิ้ว สูง 82 นิ้ว สร้างด้วยอิฐถือปูน มีพุทธลักษณะคือ พระพักตร์กลม พระขนงโก่งไม่ทําเป็นสันนูน เซาะเป็นร่องลึกบริเวณเหนือขอบพระเนตร พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกเล็ก พระโอษฐ์แย้มเล็กน้อย พระหนเป็นปมแนว พระศกโค้งมาบรรจบกันเป็นรูปปีกกาเหนือพระนลาฏ เม็ดพระศก เป็นตุ่มกลมเรียงต่อเนื่องอย่างมีระเบียบ พระวรกายอวบอ้วน พระอุระนูนครองจีวรห่มเฉียง เส้นขอบจีวรและสังฆาฏิมีแนวเส้นเดียว สังฆาฎิเป็นแผ่นขนาดเล็ก ยาวต่ำกว่าพระถัน นิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกันเมื่อได้พบพระพุทธรูป ผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการวัด ถึงชาวบ้านในขณะนั้น จึงได้ทําเรื่องแจ้งให้กรมศิลปากร หน่วย 4 อําเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความ เชี่ยวชาญด้านวัตถุโบราณมาตรวจสอบ และจากการตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่าพระพุทธรูปองค์นี้ แล้วแจ้งว่า สร้างในพุทธศตวรรษที่ 19 และสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของศักดิ์ชัย สายสิงห์ กล่าวว่าพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบบน ฐานหน้ากระดานเกลี้ยง ลักษณะพระพักตร์กลม พระเนตรเหลือบต่ำ พระหนุเป็นปม ขมวดเกศาใหญ่ เดิมพระรัศมีเป็นเปลวเพลิง ปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นดอกบัวตูมชายสังฆาฏิยาวจรดนาภี จัดเป็นพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลศิลปะสุโขทัย โดยเฉพาะหมวดใหญ่ และผสมผสานกับพระพุทธรูปแบบล้านนาระยะแรก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลพระญากือนา ราวต้นถึงกลาง พุทธศตวรรษที่ 20 (ศักดิ์ชัย สายสิงห์: 2546, 75)
4.) ศิลปะปูนปั้น เป็นปูนปั้นด้วยปูนสด หรือคน ภาคเหนือเรียกว่า ปั้นด้วยปูนตํา ปูนตําเป็นชื่อเรียกปูนชนิดหนึ่งที่ ผ่านกระบวนการทําหรือโขลกมาแล้ว การตําหรือโขลก หรือการบดด้วยแรงกระแทก เพื่อให้วัตถุที่ผสมลงไปหรือเข้ากันเป็นอย่างดี
บางแห่งเรียกว่า ปูนทิมก็มี ครั้นเมื่อนําไปปั้นก็เรียกว่า ปั้นปูนตํา ปั้นปูนโขลก และปั้นปูนนิ่ม หรือบางแห่งเรียกว่าปูนสด เมื่อนําไปปั้นเรียกว่าปูนปั้นสด คือตั้งปั้นกันสดๆ
จะให้ปูนแห้งไม่ได้ต้องให้สดอยู่เสมอ ดังนั้นปูนตําจึงเรียกชื่อได้หลายชื่อ เช่น ปูนโขลก ปูนตํา ปูนทิ่ม และปูนสด แต่ทั้งนี้ต้องผ่านการทําให้เข้ากันเป็นสําคัญ
ในอดีต หมู่บ้านเวียงเดิม ชื่อว่า บ้านสันผักฮี้ ชื่อซ้ำกับหมู่บ้านที่แม่สาย ต่อมามีกำนัน มาบอกว่า ชื่อสันผักฮี้ ไม่เพราะ กำนันเลยให้ชาวบ้าน ช่วยกันเขียนชื่อหมู่บ้าน ถ้าตรงกับชื่อที่กำนันตั้งจะได้รางวัล โดยชาวบ้านไม่มีใครเขียนตรงกับกำนันเลย จากนั้นกำนันก็เฉลย ว่าชื่อ หมู่บ้านเวียงเดิม เนื่องจากเจอวัตถุโบราณมากมาย มีถนนสายเก่า สะพานเก่า เลยสันนิษฐานว่าเป็นเวียงเดิม เลยตั้งชื่อหมู่บ้านว่าบ้านเวียงเดิม
ในสมัยอดีตบริเวณวัดโบราณเวียงเดิมเป็นพื้นที่รกร้าง เป็นกู่เก่า เป็นเจดีย์
ซึ่งในการขุดพบพระโบราณนั้น พ่อหลานได้เล่าให้ฟังว่า ในสมัยเป็นผู้ช่วย ได้มีการ
พัฒนาทางสัญจร เนื่องจากเป็นโคลน หลุมบ่อ เดินทางลำบาก ต่อมา พ.ศ 2515
ในสมัย นายวงศ์ มโนวรรณ์ ผู้ใหญ่บ้านเวียงเดิม และชาวบ้าน เกิดแนวคิดในการซ่อมแซมถนนภายในหมู่บ้าน โดยมีชาวบ้านร่วมกัน ก่อนพัฒนามีปลัดอำเภอนำรถแทรคเตอร์มาไถที่ทางและ ถมถนนเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน คนขับรู้สึกไม่ดีจึงไม่ได้ทำการไถดิน หลังจากนั้น อีกประมาณ 10 วัน จึงไปดำเนินการพัฒนาพื้นที่ในบริเวณเดิม และได้ขุดพบพระพุทธรูป ซึ่งเป็นเวลาใกล้ค่ำ ในการค้นพบนั้นเห็นพระพุทธรูปทั้งองค์ และมีอุโมงค์ครอบไว้อีกชั้นหนึ่ง มีลวดลายบริเวณปากทางเข้า ซึ่งเมื่อข่าวการค้นพบ
พระพุทธรูปโบราณ ทำให้คนทั้งตำบลมาช่วยกันพัฒนา ขุดเข้าไปหาพระ ใช้เวลาเพียง 1 คืนเท่านั้น มีความตื่นเต้นและมีศรัทธา จึงสร้างวิหารครอบภายในระยะเวลาเพียง
15 วัน การขุดพบเศียรพระพุทธรูปหินทรายโผล่ขึ้นมาจากชั้นดินได้แจ้งให้กับผู้ใหญ่บ้าน และทำเรื่องแจ้งให้กรมศิลปากร หน่วยที่ 4 อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มา และวิเคราะห์อายุและรูปแบบศิลปะ อยู่ในช่วง พุทธศตวรรษที่ 19 ชาวบ้านร่วมกันตั้งชื่อพระพุทธรูปองค์ว่า หลวงพ่อโบราณ
ลักษณะของ พระพุทธรูป พระพักตร์คล้ายพระสิงห์ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 73 นิ้ว สูง 82 นิ้ว สร้างด้วยอิฐถือปูน ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวัตถุโบราณมาตรวจสอบ และจากการตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่าพระพุทธรูป สร้างในพุทธศตวรรษที่ 19 อายุไม่ต่ำกว่า 600 ปี ตามรายละเอียดของป้ายสื่อความหมายภายในวัดที่อธิบายรายละเอียดของหลวงพ่อโบราณ ดังนี้
" หลวงพ่อโบราณ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ขานดหน้าตักกว้าง 73 นิ้ว สูง 42 นิ้ว พระพักตร์กลม พระขนงโก่งไม่ทำเป็นสันนูน เซาะเป็นร่องลึกบริเวณเหนือขอบพระเนตร พระเนตรเหลือบตำ พระนาสิกเล็ก พระโอษฐ์แย้มเล็กน้อย พระหนุเป็นปมแนวพระศกโคงมาบรรจบกันเป็นรูปคล้ายปีกกาเหนือพระนาฎ เม็ดพระศกเป็นตุ่มกลม เรียงต่อเนื่องอย่างมีระเบียบ พระวรกายอวบอ้วน พระอุระนูน ครองจีวรห่มเฉียง เส้นขอบจีวรและสังฆาฏิเป็นแนวเส้นเดียว สังฆาฏิเป็นแผ่นขนาดเล็ก ยาวต่ำกว่าพระถัน นิ้วพระหัตถ์เรียวยาวเสมอกัน จากรายละเอียดของหลวงพ่อโบราณ เชื่อได้ว่า เป็นพระพุทธรูปในระยะเริ่มแรกของอาณาจักรล้านนา โดยมีอิทธิพลศิลปะแบบปาละจากเมืองพุกาม ประเทศพม่า มีอายุในราวต้นพุทธศตวรรษที่19"
มีการสันนิษฐานว่าในบริเวณนี้ อาจเป็นวัดมาก่อน โดยได้วิเคราะห์จากหลักฐานที่ขุดค้นพบแนวอิฐ ซากกำแพงและซุ้มประตูวัด พร้อมด้วยวัตถุโบราณอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก จากหลักฐานมีการสันนิษฐานกันว่าเดิมน่าจะเป็นวัดหน้าด่านประตูเมืองโบราณที่สร้างสมัยพระเจ้ากือนา
พ่อหลาน ได้เล่าประสบการณ์ เกี่ยวกับพระโบราณว่า ยังมีคนพบพระเครื่ององค์หนึ่งพ่อหลานเคยถามซื้อแต่ก็ไม่ขายให้ ซึ่งคนที่พระเครื่องนั้นปัจจุบันได้ก็เสียชีวิตไปแล้วจึงไม่ทราบว่าพระเครื่ององค์นั้นอยู่ที่ใด รวมถึงมีพวกนักเลงพระเคยมาขุดกลางเจดีย์แต่ก็ไม่พบของมีค่า ส่วนมากใครหยิบของโบราณไปจะนำมาคืนหมด ในสมัยนั้นวัดของชุมชนไม่ได้อยู่บริเวณที่ขุดพบพระพุทธรูปโบราณ แต่อยู่ถัดไปจากแหล่งที่ขุดค้นพบมีระยะห่างประมาณ 100 วา ซึ่งการขุดพบพระโบราณ กรมศิลปกร จะนำรถมาลากพระไป แต่ชาวบ้านไม่ยอม ไม่ให้เอาไป จึงย้ายวัดประจำชุมชนมาอยู่ตรงที่แหล่งขุดค้นพบพระโบราณ ทางการก็ยกวัดร้างให้มีวัดมีพระสงฆ์ และยกฐานะเป็นวัดประจำชุมชน โดย นายอำเภอ ยุวรัตน์ กมลเวธ (ในขณะนั้น) ได้เป็นคนตั้งชื่อวัดว่า
วัดพระโบราณ ตั้งแต่นั้นมา
ต่อจากนั้นมามีผู้คนจากทั่วสารทิศมานมัสการพระพุทธรูปโบราณอยู่เสมอ ทำให้ชาวบ้านในบ้านเวียงเดิมหรือบ้านสันผักฮี้ (ชื่อในอดีต) จึงขออนุญาตตั้งวัดร้างขึ้นเป็นพระอารามเมื่อปี พ.ศ.2542 ภายในบริเวณวัด นอกจากพระโบราณที่เป็นที่เคารพสักการะของคนในชุมชนแล้ว ยังมีพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดง วัตถุโบราณ และเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวล้านนา
ในปี พ.ศ. 2555 นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีในช่วงนั้น เดินทางมาเยี่ยมชม วัดโบราณเวียงเดิม เห็นถึงความสำคัญของโบราณวัตถุ ที่อยู่ในวัดและทราบถึงแนวคิดของเจ้าอาวาสวัด จึงประสานงานไปที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ อพวช. จึงเกิดการร่วมมือกับจังหวัดเชียงราย ภายใต้โครงการ พัฒนาแหล่งเรียนรู้อารยธรรมท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย ได้รับความร่วมมือทั้งจากวัด กรมศิลปากร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชาวบ้าน จัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดโบราณเวียงเดิม จำนวน 2 อาคารที่อยู่ภายในบริเวณวัด ดังต่อไปนี้
อาคารที่ 1. ห้องจัดแสดงวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชาวล้านนา ภายในอาคารแบ่งมุมจัดแสดงไว้เป็นหมวดหมู่ ได้แก่ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับการทำการเกษตรของชุมชน เช่น อุปกรณ์เครื่องกำจัดสัตว์น้ำ อีตเข้าวโพด อุปกรณ์ซอยใบยาสูบ เป็นต้นมุมของเล่นในอดีต มุมห้องครัวโบราณ เทคโนโลยีพื้นบ้าน อาวุธโบราณ เช่น ปืนโบราณ ธนู หน้าไม้ เป็นต้น ตลอดจนเก็บรวบรวมเอกสารโบราณ รูปถ่ายโบราณของชุมชน เอกสารเก่า เช่น สมุดบัญชีของผู้ใหญ่บ้าน ภาพถ่ายชุมชนเวียงเหนือในอดีต เป็นต้น
ภายในอาคารแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดแสดงวัตถุโบราณ ต่าง ๆ เช่น พระพุทธรูปโบราณ กล้องสูบยา(มู่ยา) และ หอยเบี้ย ชาม เครื่องปั้นดินเผา ดาบโบราณ ไห และแจกันโบราณ เป็นต้น ซึ่งจัดแสดงภายในตู้จัดแสดง แบ่งไว้เป็นหมวดหมู่ สำหรับผู้ที่เข้าชม หรือผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลจากป้ายสื่อความหมายต่าง ๆที่อยู่ภายในอาคาร เช่น ประวัติหลวงพ่อหินทราย วัดโพธิ์ชัย ประวัติหลวงพ่อโบราณ วัดโบราณเวียงเดิม แผนที่อำเภอเวียงชัย และป้ายแผนที่อาณาจักรล้านนา เป็นต้น ส่วนใหญ่พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียนในพื้นที่ หรือหากต้องการเข้าชมต้องแจ้งความประสงค์กับเจ้าอาวาส เนื่องจากไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์