แผนที่ตำบลเวียงเหนือ
เทศบาลตำบลเวียงเหนือ
ในเขตเทศบาลตำบลเวียงเหนือ มีทรัพยากรทางวัฒนธรรม อาทิโบราณสถาน โบราณวัตถุที่สำคัญ วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น
ปราชญ์ชุมชน ผู้มีองค์ความรู้และภูมิปัญญา ผลการศึกษามี ดังต่อไปนี้
1) แหล่งทรัพยากรทางวัฒนธรรม ในเขตเทศบาลเวียงเหนือ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย
เทศบาลตำบลเวียงเหนือ จังหวัดเชียงราย เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ เหมาะแก่การทำนา ทำไร่ และทำสวน มีแม่น้ำที่สำคัญไหลผ่านจำนวน 2 สาย ได้แก่ แม่น้ำลาว และแม่น้ำกก มีความอุดมสมบูรณ์ อยู่ห่างจากอำเภอเวียงชัย ระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองเชียงราย
ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร พื้นที่ในเขตตำบลเวียงเหนือ ไม่มีภูเขา และพื้นที่ป่าไม้ จากการวิจัยพบว่า มีทรัพยากทางวัฒธรรม และสามารถ
ส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในแหล่งวัฒนธรรม ตามรูปแบบของ องค์การท่องเที่ยวโลก (United Nations World Tourism Organization: UNWTO) ซึ่งกำหนดรูปแบบของการท่องเที่ยวในแหล่งวัฒนธรรม(Cultural Based Tourism) ประกอบด้วย การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
(Historical Tourism) การท่องเที่ยวชมงานวัฒนธรรมและประเพณี (Cultural and Traditional Tourism) และ การท่องเที่ยววิถีชีวิต
ในชนบท (Rural tourism/Village Tourism) ดังต่อไปนี้
1.1) การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์(Historical Tourism)
แหล่งโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัดประจำชุมชน ในเขตเทศบาลตำบลเวียงเหนือ เป็นสถานที่รวบรวมวัตถุโบราณและมีคุณค่าแสดงถึงประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน จากงานวิจัยได้นำเสนอสถานที่แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมใน เชิงประวัติศาสตร์ เพื่อท่องเที่ยวชื่นชมความสวยงามของสถานที่และสามารถได้เรียนรู้เรื่องราวของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จำนวน 3 แหล่ง ดังต่อไปนี้
1) พุทธสถานเวียงกือนา
แหล่งโบราณสถานที่เป็นแหล่งทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่สำคัญของตำบลเวียงเหนือ เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูป “หลวงพ่อใหญ่กือนา” ซึ่งเป็นที่เคารพของชุมชนในตำบลเวียงเหนือ ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำกก หมู่ที่ ๘ บ้านไตรแก้ว ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย
หลวงพ่อใหญ่กือนา สร้างด้วยอิฐถือปูน มีขนาดกว้าง 6 ศอก สูง 6 ศอก ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้ากือนา (พ.ศ. 1898 - 1928)
แห่งราชวงค์เม็งรายเป็นผู้สร้าง เมื่อเสด็จมายังเมืองเชียงแสน และเดินทางโดยเรือมาตามลำน้ำกก ทรงแวะประทับแรมบริเวณริมฝั่งแม่น้ำกก และสร้างเมืองใหม่เรียกว่า “เวียงกือนา” และสร้างพระพุทธรูป “หลวงพ่อใหญ่กือนา” ประดิษฐานให้เป็นที่เคารพสักการะแก่ผู้สัญจรและผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำกก ปัจจุบัน ลักษณะของพระพุทธรูปหลวงพ่อใหญ่กือนา มีต้นไม้โอบล้อมไว้ต้องพิจารณา จึงจะสามารถมองเห็น พระพักตร์ ดวงตา พระเกศา ซึ่งยังมีบางส่วนที่ต้นไม้ยังไม่ได้โอบล้อม จึงเป็นความสวยงามของหลวงพ่อใหญ่กือนา พุทธสถานเวียงกือนา ได้รับการบูรณะและพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นสถานที่สำคัญในการจัดกิจกรรมทางพุทธศาสนาและงานประเพณีที่สำคัญของตำบลเวียงเหนือ เช่น วันมาฆบูชา กิจกรรมปีใหม่เมือง ประเพณีลอยกระทง เป็นต้น โดยมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้าน ทั้ง 12 หมู่บ้าน แสดงถึงความร่วมมือร่วมใจของชุมชนตำบลเวียงเหนือ
2) วัดโบราณเวียงเดิม
วัดพระโบราณเวียงเดิม เป็นวัดประจำชุมชน ของหมู่บ้านเวียงเดิม ซึ่งมีความสำคัญกับชุมชนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปโบราณที่ขุดค้นพบ โดยคนในชุมชนจากการขุดดินถมถนนเพื่อหมู่บ้าน การค้นพบพระพุทธรูปโบราณ คนทั้งตำบลมาช่วยกันขุดเข้าไปหาพระ ใช้เวลาเพียง 1 คืน และมีศรัทธาสร้างวิหารครอบภายในระยะเวลาเพียง 15 วัน ชาวบ้านร่วมกันตั้งชื่อพระพุทธรูปองค์ว่า หลวงพ่อโบราณ ลักษณะของ พระพุทธรูปพระพักตร์คล้ายพระสิงห์ปางมารวิชัยขัดสมาธิ หน้าตักกว้าง 73 นิ้ว สูง 82 นิ้ว สร้างด้วยอิฐถือปูน มีอายุไม่ต่ำกว่า 600 ปี เชื่อได้ว่าเป็นพระพุทธรูปในระยะเริ่มแรกของอาณาจักรล้านนา โดยมีอิทธิพลศิลปะแบบปาละจากเมืองพุกาม ประเทศพม่า มีอายุในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ภายในบริเวณวัด นอกจากพระโบราณที่เป็นที่เคารพสักการะของคนในชุมชนแล้ว ยังมีพิพิธภัณฑ์วัดโบราณที่จัดแสดง วัตถุโบราณ และเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวล้านนา จำนวน 2 อาคารที่อยู่ภายในบริเวณวัด ดังต่อไปนี้
อาคารที่ 1. ห้องจัดแสดงวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชาวล้านนา ภายในอาคารแบ่งมุมจัดแสดงไว้เป็นหมวดหมู่ ได้แก่ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้
ที่เกี่ยวกับการทำการเกษตรของชุมชน เช่น อุปกรณ์เครื่องจัดสัตว์น้ำ อีตข้าวโพด อุปกรณ์ซอยใบยาสูบ เป็นต้น มุมของเล่นในอดีต มุมห้องครัวโบราณ เทคโนโลยีพื้นบ้าน อาวุธโบราณ เช่น ปืนโบราณ ธนู หน้าไม้ เป็นต้น ตลอดจนเก็บรวบรวมเอกสารโบราณ รูปถ่ายโบราณของชุมชน เอกสารเก่า เป็นต้น
อาคารที่ 2. อาคารแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เกิดจากการปรับปรุงหอฉันท์เดิมของวัด พัฒนาให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เน้นการรวบรวมและ
จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบในท้องถิ่น จากของที่ขุดค้นพบในพื้นที่ตำบลเวียงเหนือ และการได้รับบริจาคจากชาวบ้านในพื้นที่ เช่น พระพุทธรูปโบราณ ชาม เศษกระเบื้องดินเผา มู่ยา หอยเบี้ย ดาบโบราณ ไห และแจกันโบราณ เป็นต้น
3) วัดสันสลิด
วัดประจำหมู่บ้านของบ้านสันสลิด หมู่ 3 เป็นศูนย์รวมของจิตใจชาวบ้านและทำกิจกรรมทางพุทธศาสนา มีพระอุโบสถที่สวยงาม รวมถึงบรรยากาศและทิวทัศน์ที่สวยงามโดยเฉพาะช่วงเวลาทำนาปลูกข้าว ซึ่งทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่สำคัญของวัดสันสลิด คือ พระพุทธรูปหินทรายโบราณวัตถุที่ขุดพบบริเวณกู่เก่าในเขตทุ่งนาของหมู่บ้าน ลักษณะของพระพุทธรูปเป็นงานศิลปะเอกลักษณ์ของสกุลช่างพะเยา และเก็บรักษา
พระพุทธรูปที่แกะสลักด้วยหินทราย และชิ้นส่วนพระพุทธรูปเป็นจำนวนมากในสภาพที่ชำรุด แตกหัก การค้นพบพระหินทรายโบราณ เล่าว่า เจ้าของที่นาชาวบ้านได้พบก้อนหินหินทรายขนาดใหญ่ จึงนำมีดพร้ามาลับคมกับก้อนหินก้อนนี้ ต่อมามีความต้องการขุดหินทรายก้อนนี้ออกมาเพื่อนำไปเป็นที่ลับมีด ปรากฏว่า เมื่อขุดดินลงไปพบว่า หินทรายก้อนนั้นเป็นฐานพระพุทธรูป จึงพาชาวบ้านคนอื่นมาช่วยกันขุดเพื่อนำฐานพระพุทธรูปนั้นออกมา ทำให้ลักษณะฐานพระพุทธรูปหินทรายที่ประดิษฐานในวัดสันสลิด มีรอยของการลับมีดที่เห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อขุดพบฐานพระโบราณ ชาวบ้าน
ที่ทราบข่าวและอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง จึงมาช่วยกันขุดหาเพื่อค้นหาชิ้นส่วนอื่นๆ ของพระพุทธรูป
1.2) การท่องเที่ยวชมงานวัฒนธรรมและประเพณี (Cultural and Traditional Tourism)
ประเพณีที่มีความร่วมมือจัดขึ้นภายในหมู่บ้าน เป็นประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชนที่ผสมผสานระหว่างชาวเหนือ และชาวอีสานที่อพยพ
ย้ายถิ่นฐานมาทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ตำบลเวียงเหนือ ทำให้ตลอดปีมีการจัดกิจกรรมประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น แสดงอัตลักษณ์ของชาวเหนือและชาวอีสานล้านนา ส่วนใหญ่เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับศาสนา และวัฒนธรรมของท้องถิ่น ที่มีความโดดเด่น ซึ่งชาวบ้านในเขตเทศบาลตำบลเวียงเหนือได้จัดขึ้นเป็นประเพณีประจำปีของชุมชน เช่น ประเพณีสงกรานต์ (ปีใหม่เมือง) ในเดือนเมษายน และประเพณียี่เป็ง (ลอยกระทง)
ในเดือนพฤศจิกายน จัดขึ้น ณ พุทธสถานหลวงพ่อใหญ่กือนา หมู่ 8 บ้านไตรแก้ว ประเพณีบุญบั้งไฟ สรงน้ำพระพุทธรูปโบราณเวียงเดิม
วัดพระโบราณเวียงเดิม หมู่ 2 บ้านเวียงเดิม ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี
1.3) การท่องเที่ยววิถีชีวิตในชนบท (Rural tourism/Village Tourism)
ทรัพยากรทางวัฒนธรรม อีกประเภทหนึ่งเป็นทรัพยากรที่จับต้องไม่ได้ ในที่นี้ หมายถึง องค์ความรู้ท้องถิ่น หรือ ทรัพยากรบุคคล ซึ่งมีองค์ความรู้ภูมิปัญญาในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านการเกษตร งานศิลปหัตถกรรม ซึ่งได้สัมภาษณ์บุคคลที่มีองค์ความรู้ และมีกิจกรรมที่ทำร่วมกับชุมชน และเป็นที่ยอมรับจากคนในชุมชน ซึ่งการท่องเที่ยวในวิถีชนบท คือการได้มีความสุนทรีย์กับการท่องเที่ยวในหมู่บ้าน ที่มีลักษณะวิถีชีวิตที่โดดด่น ได้รับความรู้และศึกษาผลงานที่สร้างขึ้นจากภูมิปัญญาของชุมชน จากการวิจัย ได้จัดทำทำเนียบผู้มีองค์ความรู้ท้องถิ่น โดยแบ่งตามสาขาของภูมิปัญญาท้องถิ่น 6 สาขา คือ
1) สาขาเกษตรกรรม บุคคลที่มีความสามารถในการผสมผสานองค์ความภูมิปัญญาในด้านการเกษตร จำนวน 14 คน
2) ด้านงานหัตถกรรม มีความเชี่ยวชาญในด้านงานไม้ งานประดิษฐ์ งานหัตกรรม และงานฝีมือ จำนวน 27 คน
3) ด้านการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ไทย คือ บุคคลที่ความสามารถในการจัดการ ป้องกันและรักษาสุขภาพของคนในชุมชนโดยใช้
องค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งในภาคเหนือเรียนกว่า “หมอเมือง” หรือ “หมอพื้นบ้าน” จำนวน 19 คน
4) ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน มีกลุ่มบุคคลรวมกลุ่มกัน เช่น กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า กลุ่มแปรรูปอาหารกล้วยฉาบ กลุ่มเกษตรกรข้าว กลุ่มจักสานไม้กวาด กลุ่มเพาะเห็ด และกลุ่มทอผ้า เป็นต้น จำนวน 15 กลุ่ม
5) ด้านงานศิลปกรรม เป็นบุคคลที่ความมีความเชี่ยวชาญในงานทางด้านศิลปะสาขาต่างๆ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม
ทัศนศิลป์ คีตศิลป์ จำนวน 21 คน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
Tel : 053-768119 , 053-769192
FB : เทศบาลตำบลเวียงเหนือ
Address : Wiang Nuea, Wiang Chai District,
Chiang Rai, Thailand